ผู้เชี่ยวชาญชี้สายตาสั้นเทียมจากการใช้ สมาร์ทโฟน
- tbfc1000
- 27 ต.ค. 2567
- ยาว 1 นาที
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เป็นที่นิยมและมีความจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันของคนทุกวัย บางคนมีทั้ง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้งานตลอดเวลา ทำให้ต้องเพ่งหน้าจอเป็นเวลานานๆ ซึ่งจอของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตนั้น จะมีแสงสว่างในลักษณะเดียวกับจอคอมพิวเตอร์ หากหน้าจอมีความสว่างเกินไป และจ้องติดต่อกันนานๆ จะทำให้รูม่านตาหดตัว จนส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยตามากกว่าปกติ รวมทั้งทำให้ตาแห้ง ระคายเคืองกระจกตาได้ง่าย ดังนั้น การเพ่งสายตาที่หน้าจอตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงที่เล่นเกมติดพัน ไม่ยอมละสายตาจากหน้าจอ อาจกลายเป็นผลเสียต่อสายตา เช่น ปวดตา ปวดหัว สายตาพร่ามัว มีอาการเหมือนคนสายตาสั้น มองเห็นไม่ค่อยชัด แต่พอได้พักสายตา อาการเหล่านี้จะหายไปเอง นั่นแสดงว่ากำลังเกิดปัญหาอาการ “สายตาสั้นเทียม” (Pseudomyopia) และหากปล่อยให้เป็นสายตาสั้นเทียมนานๆ ก็จะกลายเป็น “สายตาสั้นจริง” ในที่สุด

สายตาสั้นเทียม คืออะไร
สายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) เกิดจากการหดตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ในลูกตาเพื่อให้เลนส์ตาโป่งออก ทำให้สภาพตาในขณะนี้เสมือนเป็นคนสายตาสั้น เราจึงมองเห็นของที่อยู่ใกล้ชัดขึ้น แต่พอเราเลิกมองใกล้ กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะคลายตัวโดยอัตโนมัติ ทำให้เราเห็นของที่อยู่ไกลชัดขึ้น ซึ่งปกติกล้ามเนื้อส่วนนี้จะหดและคลายตัวสลับกันไปมาตลอด แต่หากเราใช้สายตาเพ่งดูจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์นานเกินไป ก็จะทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในตาหดตัวเกือบตลอดเวลา ทำให้มีอาการเสมือนอยู่ในสภาพสายตาสั้น มองไม่ชัด แต่เมื่อใส่แว่นสายตาสั้นกลับมองชัดขึ้น
รู้ได้อย่างไรว่าสายตาสั้นเทียม
อาการของสายตาสั้นเทียมและสายตาสั้นจริง มีส่วนที่เหมือนกันตรงที่มองไกลไม่ชัดทั้งคู่ แต่สำหรับอาการสายตาสั้นเทียมนั้น จะมีอาการที่สังเกตได้ ดังนี้
• มีอาการมองไม่ชัดค่อนข้างจะทันที แต่สายตาสั้นจริงจะค่อยๆ มองไม่ชัด
• มีอาการปวดตา ปวดหัว บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
• หลังการใช้สายตามากๆ หรือนานๆ จะมีอาการตามัวมากขึ้น
• ใส่แว่นสายตาสั้นแล้วมองใกล้ไม่ชัด และอาจปวดตา ปวดหัวมากขึ้น
• วัดสายตาแล้วได้ค่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่แน่นอน มีค่าสายตาน้อยว่าสายตาจริง เช่น วัดสายตาแล้วพบว่าสั้น -4.00 เมื่อใส่แว่น -4.00 ก็ยังเห็นไม่ชัด แต่พอลองใส่แว่น -5.00 กลับมองเห็นชัดมากกว่า
• กรณีที่ใช้ยาหยอดขยายม่านตา เพื่อช่วยทำให้กล้ามเนื้อในลูกตาที่หดตัวผิดปกติคลายออก แล้วลองวัดค่าสายตาใหม่ พบว่าก่อนหยอดยาวัดค่าสายตาได้ สั้น -4.00 แต่หลังหยอดตาวัดแล้วกลับพบว่าไม่มีอาการสายตาสั้นเลย
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังกล่าว ควรพบจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการตรวจรักษาเพื่อดูแลสุขภาพตาจะเป็นการดีทีสุด
สายตาสั้นเทียมกลายเป็นสายตาสั้นจริงได้หรือไม่
การใช้สายตาเพ่งมองสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานานๆ เช่น การอ่านหนังสือหรือเร่งทำงานให้ทันตามกำหนด จะส่งผลกระทบกับสายตาโดยตรง ทำให้เกิดสายตาสั้นเทียม พอพักสายตาระบบกล้ามเนื้อตาก็จะมีทำงานตามอัตโนมัติ คือปรับการมองเห็นใกล้และไกลได้ แต่ถ้าในกรณีที่ใช้สายตาเพ่งหน้าจอติดต่อกันนานๆ หลายชั่วโมง และปฏิบัติเช่นนี้เป็นปีๆ ระบบกล้ามเนื้อตาก็จะไม่ทำงานตามอัตโนมัติ ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็น “สายตาสั้นจริง” ได้

การรักษา “สายตาสั้นเทียม”
1. ถ้าเกิดจากการใช้สายตามากเกินไป
• ให้งดการใช้สายตาที่ใกล้ที่ไม่จำเป็น เช่น การเล่นเกม
• ถ้าจำเป็นต้องใช้สายตาที่ใกล้ ให้มีการพักเป็นช่วงๆ เช่น ใช้งานสมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์ 30 นาที พัก 5 นาที โดยหลับตาหรือมองไปไกลๆ โดยไม่ต้องจ้องอะไร
• ใช้สายตาควรมีแสงสว่างที่เหมาะสม ไม่มีแสงสะท้อน ตัวหนังสืออย่าให้เล็กจนเกินไป ทำให้ต้องเพ่งมาก
• ปรับเปลี่ยนแว่นสายตา โดยทั่วไปอาจต้องลดกำลังสายตาสั้นลง ทำให้ระยะแรกๆ จะรู้สึกว่ามองไกลไม่ชัด
• ถ้าพักสายตาหรือเปลี่ยนแว่นแล้วยังไม่หาย หมอตาจะพิจารณาให้ยาหยอดคลายกล้ามเนื้อไปใช้ที่บ้าน
• สำหรับการบริหารตา ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ารักษาภาวะสายตาสั้นเทียมนี้ได้ ให้ระวังว่าการบริหารตาโดยเฉพาะการเพ่ง อาจทำให้อาการแย่ลง มีอาการปวดตา ปวดหัว
2. ถ้าสายตาสั้นเทียมเกิดจากมีโรค ให้รักษาโรค เช่น โรคม่านตาอักเสบ อุบัติเหตุที่ก้านสมอง ถ้าเกิดจากการใช้ยารักษาต้อหินกลุ่ม anticholinesterase eye drop ให้พิจารณาใช้ยาอื่นทดแทน
การดูแลและป้องกัน
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันสายตาสั้นเทียม คือ
• พักการใช้สายตา ประมาณ 5-10 นาที ต่อการใช้งาน 30-45 นาที โดยหลับตา หรือมองไกลๆ
• หลีกเลี่ยงการบริหารตาด้วยการเพ่งมอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
• หากมีอาการตามัวมองไม่ชัด ควรลดการใช้สายตาในแต่ละวัน และอย่าตัดแว่นมาใส่โดยไม่ได้พบจักษุแพทย์ เนื่องจากจะไม่ได้ค่าสายตาที่แน่นอน
• ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์ กรณีที่อายุมากกว่า 2 ขวบ ใช้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
Comments