top of page

โรคตาขี้เกียจ คืออะไร

  • tbfc1000
  • 24 มี.ค.
  • ยาว 1 นาที

โรคตาขี้เกียจ เป็นภาวะที่ตามองไม่ชัดเท่าปกติ โดยเกิดกับตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ อาการส่วนใหญ่คือ ตาข้างหนึ่งมีการมองเห็นด้อยกว่าตาอีกข้างหนึ่ง เนื่องจากมีความผิดปกติของพัฒนาการระบบการมองเห็นในช่วงวัยเด็ก( ระยะสำคัญคือช่วงแรกเกิดถึงอายุประมาณ 7 ปี ) เมื่อตาข้างที่ผิดปกติได้รับสัญญาณภาพไม่ชัดเจน สมองจึงเพิกเฉยต่อการรับสัญญาณภาพจากตาข้างนั้น ไปพัฒนาเฉพาะตาข้างที่ปกติ ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง ความสามารถในการทำงานร่วมกันของตาสองข้างจึงลดลงด้วย เป็นความผิดปกติของพัฒนาการของการมองเห็น เนื่องจากโดยปกติแล้วระบบการมองเห็นของคนเรา ประกอบด้วยการทำงานร่วมกันของตาและสมอง


โรคตาขี้เกียจคืออะไร

การพัฒนาระบบการทำงานในการนำสัญญาณภาพจากจอประสาทตา ไปที่สมองนี้จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงอายุประมาณ 7 ปี โดยต้องได้รับสัญญาณภาพจากตาทั้งสองข้างในอัตราใกล้เคียงกัน จึงจะทำให้การพัฒนาการมองเห็นเป็นปกติ แต่ถ้าในระยะนี้มีปัจจัยมารบกวนสัญญาณภาพของข้างหนึ่งให้ไม่ชัด สมองก็จะพัฒนาไปในทางที่เลือกการมองเห็นจากตาอีกข้างหนึ่งที่ให้สัญญาณภาพชัดกว่า ก็จะทำให้การพัฒนาการมองเห็นไม่สมบูรณ์ ตาข้างที่มีปัญหามองไม่ชัดเท่าตาปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะที่ตาข้างหนึ่งมีการมองเห็นด้อยกว่าตาอีกข้างหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า โรคตาขี้เกียจ


โรคตาขี้เกียจ นอกจากตาข้างนั้นจะมองไม่ชัดแล้ว ยังทำให้ความสามารถในการทำงานร่วมกันของตาสองข้างลดลงด้วย ส่งผลให้การกะระยะตื้นลึก หรือ มิติของภาพผิดปกติไปด้วย เด็กอาจจะกะระยะลูกบอลพลาด มองภาพสามมิติได้ลำบาก


สาเหตุของภาวะตาขี้เกียจ เกิดจากภาวะใดๆ ก็ตามที่ทำให้ตามองไม่ชัด อาจแบ่งได้เป็นชนิดต่างๆ ดังนี้


1. ภาวะตาเหล่ตาเข (Strabismic Amblyopia) ชนิดนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยสุด เมื่อมีตาเหล่ สมองจำเป็นต้องกดการรับรู้จากตาข้างที่เหล่ ไม่เช่นนั้นจะทำให้มองเห็นภาพซ้อน เมื่อนานเข้าตาเหล่นั้นก็จะกลายเป็นตาขี้เกียจ


2. ภาวะค่าสายตามีความแตกต่างกันมาก (Anisometropic Amblyopia) ชนิดนี้เป็นสาเหตุจากสายตาทั้งสองข้างมีค่าสายตา (สั้นยาวหรือเอียง) ต่างกันมาก เช่น ตาข้างหนึ่งสั้น 100 อีกข้างสั้น 700 ดังนั้นภาพจากตาข้างที่สั้นกว่าจะมัวกว่าอีกข้างหนึ่งมากและเกิดเป็นภาวะตาขี้เกียจตามมา


3. ภาวะค่าสายตาผิดปกติเท่ากัน (Ametropic Amblyopia) ชนิดนี้เป็นสาเหตุจากสายตาทั้งสองข้างมีค่าสายตาผิดปกติมากพอๆ กัน (จะเป็นสายตาสั้น หรือยาว หรือเอียงมากๆก็ได้) เช่น สายตาสั้น 1000 ทั้งสองข้าง เด็กจะเห็นภาพระยะไกลไม่ชัด พัฒนาการของระบบการมองเห็นถูกกระตุ้นไม่เต็มที่ เกิดเป็นตาขี้เกียจทั้งสองข้าง


4. ภาวะการมองเห็นโดนบดบัง (Deprivation Amblyopia) ภาวะที่พบบ่อยคือ ต้อกระจกแต่กำเนิด ภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะหนังตาตก อุบัติเหตุที่ตา แผลเป็นที่กระจกตา ภาวะนี้ถ้าเกิดกับตาข้างเดียวก็ทำให้เกิดตาขี้เกียจตาเดียว หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้าง เช่น เป็นต้อกระจกทั้งสองตา ก็จะทำให้พัฒนาการของระบบการมองเห็นของตาทั้งสองข้างถูกรบกวน เกิดเป็นตาขี้เกียจทั้งสองข้าง


กลุ่มตัวอย่างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะตาขี้เกียจมากขึ้น ได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนด เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกเกิด เด็กที่มีพัฒนาการช้า และคนในครอบครัวมีประวัติเป็นภาวะตาขี้เกียจ


การรักษา

หัวใจสำคัญในการป้องกันความสูญเสียจากโรคตาขี้เกียจ คือ ตรวจพบและรักษาให้เร็วที่สุด เด็กที่เป็นโรคตาขี้เกียจไม่สามารถหายเองได้ ในทางทฤษฏีเชื่อว่าควรเริ่มรับการรักษาก่อนอายุ 7 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงที่ยังมีพัฒนาการของระบบการมองเห็นอยู่ หากเริ่มรับการรักษาตั้งแต่อายุยิ่งน้อยก็จะเพิ่มโอกาสการกลับมามองเห็นเป็นปกติได้ดียิ่งขึ้น หากเริ่มรับการรักษาหลังจากอายุเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นไปแล้ว มักไม่สามารถทำให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติได้ การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ ถ้าเป็นกรณีที่ผ่าตัดได้ก็ทำก่อนแล้วค่อยรักษาเรื่องตาขี้เกียจที่ยังเหลืออยู่


การรักษาภาวะตาขี้เกียจเริ่มจากกำจัดที่สาเหตุก่อน

• กรณีตาเหล่ตาเข ก็ผ่าตัดแก้ไขตาเหล่ก่อน แล้วจึงรักษาภาวะตาขี้เกียจต่อ

• กรณีการมองเห็นโดนบดบัง เช่น ต้อกระจก ภาวะหนังตาตก แผลเป็นที่กระจกตา ก็ผ่าตัดแก้ไขก่อน

• กรณีค่าสายตาผิดปกติ ก็ให้แว่นเพื่อให้มองเห็นชัด ช่วยกระตุ้นพัฒนาการการมองเห็น

แต่ถ้าเป็นตาขี้เกียจระดับลึกแล้ว หลักการคือ กระตุ้นให้ตาขี้เกียจทำงานมากขึ้น ที่นิยมคือ การปิดตาข้างดี หรือจักษุแพทย์บางท่านอาจเลือกเป็นการหยอดยาตาข้างที่ดีให้มัวลง เมื่อตาขี้เกียจถูกบังคับให้ใช้งานมากขึ้นก็จะมีโอกาสพัฒนาการมองเห็นกลับมาเป็นปกติได้

สิ่งสำคัญคือการตรวจพบเร็วว่าเด็กเป็นโรคตาขี้เกียจ ยิ่งพบเร็ว รักษาเร็ว โอกาสประสบความสำเร็จในการรักษายิ่งสูง ผู้ปกครองควรสังเกตว่าเด็กมีลักษณะดวงตาที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น มีจุดสีขาวที่กลางตาดำ หนังตาตก มีภาวะตาเหล่ตาเข เด็กหรี่ตาบ่อย มีการร้องไห้เนื่องจากมองไม่เห็น เมื่อเอามือปิดตาข้างดีไว้ มีลักษณะเหมือนมองไม่เห็น ถ้ามีข้อสงสัยต้องรีบพาเด็กไปพบจักษุแพทย์ทันที


อย่างไรก็ตาม ในเด็กทุกรายควรรับการตรวจตาและค่าสายตาเด็กตั้งแต่อายุน้อย หากพบความผิดปกติของค่าสายตา การใส่แว่นจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคตาขี้เกียจตามมาได้ มีข้อแนะนำจาก American Optometric Association ว่าควรพาเด็กไปพบจักษุแพทย์เมื่ออายุ 6 เดือน และตรวจอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ

Comentarios


bottom of page